สาระการเรียนรู้ที่ ๖ กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
มาตรฐาน ว ๖.๑ เข้าใจกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลก ความสัมพันธ์ของกระบวนการ
ต่างๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และสันฐานของโลก มีกระบวน
การสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้
ประโยชน์
ตัวชีวัด ม.๒/๑ สำรวจ ทดลอง และอธิบายลักษณะของ ชั้นหน้าตัดดิน สมบัติของดินและกระบวนการเกิดดิน
ตัวชี้วัด ม.๒/๒ สำรวจ วิเคราะห์ และอธิบายการใช้ ประโยชน์และการปรับปรุงคุณภาพดิน
ตัวชี้วัด ม.๒/๙ ทดลองเลียนแบบและอธิบายกระบวนการ ผุพังอยู่กับที่ การกัดกร่อน การพัดพา การทับถม การตกผลึกและผลของกระบวนการดังกล่าว
ดิน และการเปลียนแปลงของเปลือกโลก
การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก
ภูมิลักษณ์ต่างๆ บนผิวโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาต่างๆ ได้แก่
1. การผุพังอยู่กับที่
2. การกร่อน
3. การพัดพาและการทับถม
4. การตกผลึก
การผุพังอยู่กับที่
เป็นกระบวนการที่วัสดุผุพังแล้วสลายออกเป็นชิ้นเล็กๆ และมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและองค์ประกอบทางเคมี
ปัจจัยทางกายภาพ
ชั้นหินที่มีรอยแยกซึ่งมีน้ำแทรกอยู่ เมื่ออุณหภูมิต่ำลง น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็งไปดันให้รอยแยกขยายตัวมากขึ้น ทำให้ชั้นหินที่อยู่ด้านข้างแตก และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นน้ำแข็งจะละลายกลายเป็นน้ำเข้าไปแทรกตามรอยแยกใหม่ ซึ่งเมื่อน้ำแข็งตัวอีกครั้ง ก็จะดันให้รอยแยกขยายออกและเกิดรอยแตกเพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยทางเคมี
ฝนกรดที่มีกรดคาร์บอนิกปะปนอยู่ เมื่อไปตกบริเวณภูเขาที่เป็นหินปูน ซึ่งมีแคลเซียมคาร์บอเนตอยู่ กรดคาร์บอนิกจะทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนต เกิดเป็นแคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต ส่งผลให้หินปูนกร่อนลงไปเรื่อยๆ และแคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตจะไหลซึมไปตามผนังถ้ำพร้อมกับน้ำ และไหลย้อยลงตามช่องของผนังถ้ำ ทำให้เกิดหินงอกหินย้อย
ปัจจัยทางชีวภาพ
รากพืชที่ชอนไชในรอยแตกของหิน เมื่อพืชเจริญเติบโต รากพืชก็จะเจริญเติบโตด้วย และทำให้หินแตก
เป็นชั้นๆ สาหร่ายที่ขึ้นบนชั้นหินก็สามารถเร่งการผุพังของหินให้เร็วขึ้นได้
การกร่อน
เป็นกระบวนการที่ทำให้เปลือกโลก หิน ดิน และทราย หลุดออกไปโดยการกร่อนตัวหรือพังทลายเกิดจากตัวการทางธรรมชาติ ได้แก่ ฝน ลำธาร แม่น้ำ ธารน้ำแข็ง คลื่น ลม และแสงแดดตัวอย่างเช่น ละลุ จังหวัดสระแก้ว เสาเฉลียง จังหวัดอุบลราชธานี
การพัดพาและทับถม
เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ เกิดจากกระแสลมและเกิดจากน้ำการพัดพาและทับถมที่เกิดจากกระแสลม ส่วนมากจะเกิดบริเวณที่ราบสูง บนภูเขาสูง ทะเลทราย การพัดพาและทับถมที่เกิดจากน้ำ เช่น เกิดเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เกิดเป็นตะกอนรูปพัด
การตกผลึก
เป็นกระบวนการที่สารเปลี่ยนสถานะจากของเหลวหรือไอกลายเป็นของแข็ง เช่น หินงอกหินย้อยในถ้ำ ผลึกน้ำแข็ง เป็นต้น การตกผลึกมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก เช่น เมื่อมีน้ำที่มีแร่ธาตุละลายอยู่อย่างเข้มข้นขังตัวอยู่ตามรอยแยกของหิน เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น น้ำจะเกิดการระเหยไป แร่ธาตุในน้ำจึงเกิดการตกผลึกเป็นของแข็ง ซึ่งจะดันให้หินเกิดรอยแยกมากขึ้น






